Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ป่าโคก..สิ่งมหัศจรรย์กับความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล (รวบรวมข้อมูล โดย อีเกียแดง แห่งรัตติกาล )


(ขอบคุณภาพจากบล็อกเกอร์ด้วยครับ)
ภาพกะปอมปีก ซึ่งทุกวันนี้แทบหายสิ้นไปจากผืนดินโคก เพราะโคกสิ้น สิ่งต่างๆก็กลายเป็นม่านเงา

"กะปอมปีก" 
ชื่อสามัญว่า Blanford's flying lizard
ชื่อ วิทยาศาสตร์ Draco blanfordii 
เป็นกิ้งก่าขนาดเล็ก ในป่าโคกอีสาน
มี 3 สายพันธุ์ พันธุ์แดง พันธุ์เขียว และพันธุ์ดำ
อาศัยกินแมลง และตัวหนอนต่างๆ เป็นอาหาร
เป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อระบบนิเวศน์ ในห่วงโซ่ป่าโคก
จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวน
และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตามกฎหมายในประเทศไทย

.........................................................................................






(เสียงพิณเสียงแคน ภาพประกอบ อีเกียแดง แห่งรัตติกาล)


โอน้อ อรุณสางสว่างแจ้ง แสงทองส่องขึ้นมองสวย
                                       สายลมกวยไพรผืน กะซืนงามตามล่อ
                                       เสียงพิณซอดังอ๋ออ้อน ซ้อนสายลมที่โน้มเหนี่ยว
                                       แคนกะเทียวดังพ้อม น้อมลมอ้างทางถิ่นเฮา พุ้นแหล๊ว

                                       ฝนตกแซมแต้มถิ่นเค้า เหง่าบักม่วงช่อพวงดก
                                       หล่ะ! นกจับคอนอ้อนคำขาน ดอกจานงามตามแสงต้อง

                                       กระโดนซอนอ้อนลมน้าว เจ้าพวมบานทางดอนถิ่น
                                       ฝนตกรินกลิ่นหอมเอื้อ เฟือต้อง..เจ้าหล่องลอย


                                       " อยู่ข้างเถียง " ได้ยินเสียงหล่ะงัวน้อย มาหลอยหย่ำนำหมาย
                                       หญ้าเกิดในภายผืน กะซืนชมว่าสมแล้ว พะนะ
                                       นี่หล่ะแนวไทบ้าน อีสานเฮาเล่าสมค่า
                            หอมกลิ่นนาหล่ะว่าแย้ม ดอกติ้วแซมถิ่นอ้าง อีสานเค้าเล่าแหม่นงาม แท้แหล๊วครับ

..........................................................................................................

สวัสดีทุกท่านที่หลงเข้ามาเบิ่งเผอิญเข้ามาพ้อครับ เกริ่นขึ้นต้นด้วยคำผญาเว้าจาประสาถิ่นพอได้กลิ่นฮอยหลัง วิถีอีสานบ้านเฮางดงามเสมอครับ ซ่อยกันดำรงคงไว้อย่าให้ไกลจากเดิมเด้อครับ ผมจับประเด็นขึ้นมาเว้าเอาภาพขึ้นมาประกอบ มอบแด่ท่านผู้ที่สนใจใคร่อ่านได้สานแต้มแย้มฮอยให้พลอยได้เห็นค่า เพื่อนำพาฮักษาผืนป่าโคกให้คงอยู่ไว้ เถิงแม้ต่อไปกาลเวลาสิผันย้ายกะพอขยายขอบเขตเป็นป่องฮ่องฮู ให้ผู้ที่สำนึกฮักถิ่นเกิดได้เปิดแย้มแต้มค่าควรซั้นแหล๊วครับ  ผมตั้งซื่อคอลัมน์นี่ว่า " ป่าโคก สิ่งมหัศจรรย์กับความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล "  โคกสำคัญจั่งได๋ มหัศจรรย์จั่งได๋ มีความสัมพันธ์ความเกื้อกูลจั่งได๋  ไผได้รับ..ตอบแบบกระชับคือ คน นั่นเองครับ   มีโคกนับว่ายอดเพราะถือว่าเป็นปอดฟอกอากาศชั้นดี ซ่อยเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคลายความหมองความหิว ทุกมื้อนี่ป่าโคกกิ่วปลิวไปตามกระแสกิเลสจนแทบเมี้ยน เห็นแล้วกะใจหายครับ เสียดายวิถีเก่าๆ ภาพเก่าๆในม่านเงาที่เอื้ออาทร กำลังถืกตัดรอนด้วยก้อนกิเลสนั่นเองเนาะ






(ภาพ อีเกียแดง)

 ท่านพี่ปิ่นลมได้กล่าวไว้ว่า ป่าโคก คือป่าเต็งรัง ป่าเบจพรรณ ที่เกิดที่ราบสูงในอีสาน ต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันงดงามและเติมเต็มให้เป็นอีสาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่านั้นเห็นได้จากอาหารการกิน ป่าโคกเป็นดังซุปเปอร์มาเก็ต ของชาวอีสานมีทุกสิ่งให้บริโภคใช้สอย เป็นสิ่งที่ช่วยให้ สังคมอีสานในชนบทสามารถพึ่งพาตนเองได้



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

ป่าโคก คือต้นกำเนิด ลำห้วยสาขา ของแม่น้ำใหญ่ประดุจเส้นเลือดฝอย หล่อเลี้ยงวิถีชนบทให้เป็นไ
เมื่อฝนตก น้ำจากป่าโคกจะซัดพาสารอาหาลงไปตามลำธาร เล็ก ๆ จนเกิดเป็น "โสก" เป็น"ตาด"
เป็น"ลำห้วย" เอื้ออำนวยแก่ทุกชีวิต



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

สายใยแห่งป่าโคก โยงใยถักทอวิถี อาหารท้องถิ่นมากมายจากป่าโคก เห็ดต่าง ๆ แมลง ผักหญ้า และยารักษาโรคล้วนตั้งต้น ณ ป่านี้ ลูกอีสานแม้ จากถิ่นไปแสนไกลก็ยังตรึงตราผลผลิต ที่ได้จากป่าโคกเสมอ
นั่นเพราะ รากเหง้าเติบโตมาจาก ป่าโคกสถานการณ์"ป่าโคก" ในอีสานเหมือน หญิงชราที่เลี้ยงลูกมานับโหล แต่จะมีใครสักคน "คิดถึงแม่" บ้างครับ 


  
(ภาพ อีเกียแดง)


พื้นที่ภาคอีสานมีภูมิทัศน์ต่างกันอยู่บ้าง แล้วแต่ถิ่น ฉะนั้นจึงเห็นว่าพื้นที่ป่าโคกต้นไม้เป็นไปตามลักษณะของผิวดิน  ในภาพนี่คือถิ่นดินร่วนปนทรายความหลากหลายก็ดูจะมากมายเช่นกันครับ
ป่าโคก มี 3 ประเภท คือ 
ป่าโคกหินแห่ (ป่าดินลูกรัง)ป่าโคกซาต(ป่าดินทราย )ป่าโคกเบจพรรณ
ป่าโคกป่าซาต คือป่าที่ราบสูงดินทราย
มีต้นซาต ต้นสะแบง ต้นยางนา เป็นหลัก
ตามมาด้วย ต้นพอก ต้นกะบก ต้นกะบาก
เดิมทีในอีสานมีป่าจำพวกนี้มาก คลอบคุม
ตั้งแต่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด
มุกดาหาร บุรีรัมย์ ยโสธร จน ขอนเก่น
ปัจุบัน 90 % ถูกทำลายหรือไม่ก็เป็นป่าเสื่อมโทรม
สาเหตุหลักคือการ แผ้วถาง ปลูกอ้อยนั่นเอง





(ภาพ อีเกียแดง)

พื้นที่ถูกรุกคืบขยายวงกว้าง ป่าไม้พื้นที่ป่าโคกต้องกลายเป็นป่าโศก ที่นับวันจะถึงกาลวิปโยค การปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ทำให้ป่าโคกค่อยๆเลือนหายและคงจะกลายเป็นตำนานไปในที่สุด



(ภาพ อีเกียแดง)


เมื่อความต้องการของคนเราต่างกัน ความจางหม่นของคนผู้เคยอิงแอบแนบชิดกับผืนป่าก็ถึงคราน้ำตาร่วง ห่วงโซ่ที่เคยคล้องถูกโซ่บ่วงกิเลสตีตรวนจนไม่อาจหวนคืนกลับได้






(ภาพ อีเกียแดง)

อีกหนึ่งภาพกับการวาดฝัน แต่มันคือสิ่งจอมปลอมที่คอยหลอมกิเลสให้เกิดเป็นเภทภัย  การไถถางให้สิ้นเพื่อเตรียมดินปลูกมันหวังจะสร้างฝันให้มันดูสวย  แต่สิ่งที่ซวยก็คือป่า และคงจะนำมาซึ่งคราบน้ำตาของผู้ที่เคยชื่อว่ารักษามัน  และอีกหลายอย่าที่ผกผันนำทางไปสู่ความสูญสิ้นจากถิ่นเดิม นั่นคือการพัฒนาที่มาพร้อมกับการศึกษา ผืนป่าหลายร้อยหลายพันถูกบั่นทอนแทนค่าด้วยก้อนปูนแท่ง องค์การบริหารต่างๆ ทั้งสร้างมหาลัย ป่าโคกจึงถูกไถดั่งไฟลวง



(ภาพ อีเกียแดง)

สถานภาพป่าโคก ณ ปัจจุบัน นอกเหนือจาก
เขตวนอุตทยาน และเขตสงวนแล้ว
ยังมีป่าโคกที่กระจายกันอยู่ตาม พื้นที่อีสาน
ป่าโคกเหล่านั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในท้องถิ่น
ส่วนใหญ่อยู่ในรูป สปก.3 ที่น่าห่วงคือ
ผลกระทบจากทุนนิยม + พืชเศรฐกิจ
ทำให้ชาวอีสาน ส่วนใหญ่ไม่เล็งเห็นคูณค่าของ ป่าโคก
...............................
เมื่อป่าโคกสูญหาย ความสามารถในการพึ่งตนเองลดลง
ความยากแค้น หากินลำบากเพิ่มขี้น
จำต้องพึ่งพาระบบกลไกทุนนิยม เต็มรูปแบบ
แน่นอน ป่าโคกสูญหาย จิตวิญญาณอีสาน
คงไม่หายไปในทันที แต่จะค่อยๆ ลบเลือน
จนไม่เหลืออะไรให้ " ตรึงจิต"

กลับมาดูความงดงามของผืนป่าโคกที่ผมดึงรวบรวมลงไว้ในบล็อกนี้กันครับ
 ภาพส่วนมากจะเป็นของพี่ปิ่นลม พรหมจรรย์(หัวหน้าทีมเพจสำรวจโคก)  
ภาพของผมเอง(อีเกียแดง)  ทั้งภาพของป้าหน่อย ศิริกัญญา (พี่สาวแอดมินทีมงานเพจสำรวจโคก  
ภาพจากครูอีฟ ชนิดา(แอดมินร่วมทีมงานสำรวจโคก)  ภาพบางส่วนจากพี่ก้อม ไพบูลย์ เวชกามา (แอดมินร่วมทีมงานเพจสำรวจโคก) รวมไปถึงภาพจากแฟนเพจที่ส่งให้ครับ  ต้องขอบพระคุณทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ





(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

ฤดูฝนคือช่วงเวลาที่ป่าโคก มีชีวิตชีวาที่สุด
ต้นไม้แต่ละต้นชลอน้ำฝนไม่ให้ไหลบ่าทิ้ง
ค่อย ๆ พยุงให้ไหลรวมกันเป็นลำธารเล็ก ๆ
เก็บออมสะสมกลายเป็น"ต้นน้ำลำห้วย"
แหล่งน้ำจืดที่ผู้คนได้ประโยชน์สุขโดยทั่วกัน


(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

เมื่อน้ำจากป่าโคกไหลลงที่ราบต่ำเบื้องล่าง
พลังแห่งสายน้ำ ทำให้เกิดร่องน้ำไหล
มินิแคนยอน นั่นคือ"โสก"ในภาษาอีสาน
พัดพาสารอาหารหลอมรวม ให้เห็นรูปร่างห้วย


(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)



เมื่อน้ำจากป่าไหลรวมกันจาก"โสก" จึงเกิดลำห้วย
ทอดผ่านที่ราบ เป็นที่วางไข่เลี้ยงลูกอ่อน
ของปลาหลายสายพันธุ์ เมื่อปลาเติบโตสักระยะ
มันจะกลับสู่ห้วยใหญ่ หรือแม่น้ำในถิ่น
เราจึงจับมันได้มากมาย เอามาทำ"ปลาแดก"
หล่อเลี้ยงวิถี ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน

ในขณะที่ ลำธารต้นน้ำจากโคกไหลผ่าน
เราจะเห็นบริบทวิถีที่สุข เชื่อมโยงกัน
เราจะเห็นหลายๆ มิติในใจเราเติบใหญ่
ให้กลายเป็น วิถีอีสานที่งดงาม ดังอัญมณี


(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

ป่าโคก สร้างความสำคัญ หากว่าเรายังมั่นรักษา สิ่งที่พวกเขานำพาย่อมนำมาซึ่งของสมควร การเกื้อกูลซึ่งกันและกันมันคือหน้าที่สำคัญครับ ไม่ทำลายไม่ขายสิ้นผืนดินป่า ความโสภาก็ยังจะคงอยู่ ในป่าโคกมีสิ่งต่างๆมากมายถึงเราจะไม่ขยายแค่ไม่ทำลายสายใยก็ยังเชื่อมโยงครับ



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

หน้าฝนคนชื่น ป่าโคกฟื้นทุกสิ่งตื่นตามครับ




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)





(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)


ต้นเอื้องหมายนา ( Costus speciosus ) 
พบได้ทั่วไปตามป่าโคก หรือตามป่าแถบร้อนชื้น
ชาวอีสานโบราณ นำดอกของมันมา "สู่ขวัญควาย"
พร้อมทั้งมักนำมาปลูกตามแนวเขตแดนที่นา
มันเป็นทั้งสมุนไพร และยากันแมลง เพลี้ย บุ้ง
ที่จะลงทำลายนาข้าว เป็นของขวัญล้ำค่า
จากป่าโคก ที่เกื้อหนุนกันตามธรรมชาติ
การดำรงป่าโคกไว้ มีแต่ได้ กับได้
บริบทของ "ดอกเอื้อง"นั้น ลึกซึ้งยิ่งนักแล


(ภาพ ป้าหน่อย)

ภาพดอกเอื้องหมายนาบานที่ข้างโคก





(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

เห็ดหำพระหรือเห็ดหำฟาน
สรุปแล้วหำไผกันแน่หนิ แห่ะๆ






(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)


"เห็ดละโงก" ทองคำแห่งโคก
เห็ดระโงก (Amanita vaginata)
คือเห็ดรา ที่อาศัยการย่อยสลายของใบไม
ตระกูล ยางนา พลวง(ต้นกุง) เต็ง รัง ในการดำรงชีพ
เป็นกระบวนการ หมุนเวียนสารอินทรีย์ที่จำเป็น
ต่อการเจริญเติบโตของพืชคืนสู่ดิน
.................
มันคือทองคำล้ำค่าจากผืนป่า เพราะหายาก
มักเกิดในช่วงต้นฤดูฝนตามป่าโคกเท่านั้น
ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ค้นพบวิธีเพาะเห็ดชนิดนี้
โดยการเก็บดอกแก่(เห็ดเฒ่า) มาละลายในน้ำ
แล้วนำไปรดตาม ต้นกล้าต้นยางนาง ,ต้นสะแบง
แล้วเอาไปลูกลงดิน เมื่อฤดูฝนมาเยือน จะเกิดเห็ด
......................
รสชาติของเห็ดชนิดนี้ หวานอร่อย ซึมซาบ
ใครได้กินแล้ว หัวใจร่ำหา นั่นเพราะมัน
อาศัยรากไม้จากป่าโคกเพาะบ่มเชื้อ
คนอีสานก็เช่นกัน อาศัยป่าโคก ป่ายางนา
เพาะบ่มจิตวิญญาณ สายใยที่เราอาจมองไม่เห็น
"ทุกชีวิตในโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงกัน"



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)
เห็ดมันปูหรือเห็ดเหลือง







(ภาพ ป้าหน่อย)

เห็ดปลวก Termitomyces straiatus (Beeli Geim)
ผลผลิตอีกอย่างของป่าโคก เป็น "สิ่งมีค่า" ในปัจจุบัน
ภาษาภาคกลาง เรียกว่า"เห็ดโคน "
ทำไมชาวอีสานเรียกมันว่า "เห็ดปลวก" 
นัั่นเพราะเห็ดชนิดนี้ ปลวกเป็นผู้ปลูก ในรังของมัน
เพื่อใช้เป็นอาหารเลีี้ยงอาณาจักรปลวก
เมื่ออุณหภูมิ ,ความเข้มของแสง, ความชื้น
เหมาะสม มันจะงออกออกมาจากรังปลวกใต้ดิน
มนุษย์ยังไม่มี วิทยาการการและความชำนาญพอ
ที่จะเพาะเลี้ยง "เห็ดรา" ชนิดนี้ได้
ธรรมชาติและปลวกเท่านั้น ที่กำเนิดมันมา
นั่นคืออาหารอันล้ำค่า จากป่าโคก



(ภาพ ป้าหน่อย)



(ภาพ ครูอีฟ)


 (ภาพ ครูอีฟ)

เรียกได้ว่านี่คือความเกื้อกูลครับ


(ภาพ ครูอีฟ)




(ภาพ ป้าหน่อย)

เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ อีหนึ่งความงดงามที่ซ่อนตัวในป่าโคก



(ภาพ ป้าหน่อย)






(ภาพ ป้าหน่อย)





(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

ความงามจากป่าโคก ตกออกเหนือใต้ หากใคร่รู้ก็คงดูเห็น ทุกสิ่งอย่างถูกวางไว้ในที่ควร ไม่ว่าจะหน้าไหนฤดูไหนก็ทำให้หัวใจพองโตครับ


(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)


(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)


(ภาพ อีเกียแดง)



(ครูอีฟ ภาพ)

ป่าโคกคือแหล่งความรู้ที่เราควรศึกษาให้ถ่องแท้ ว่าควรแก่การรักษามากมายแค่ไหน 






(ภาพ ป้าหน่อย)
ดอกติ้วบานยามหน้าแล้ง)


(ภาพ ป้าหน่อย)

ดอกติ้วบานยามหน้าแล้ง




(ภาพ ครูอีฟ)


(ภาพ ครูอีฟ)



 (ภาพ ไพบูลย์ เวชกามา)
ดอกไม้สวยๆที่ซ่อนตัวในผืนป่า
ลมปม....ดอกไม้ป่าและพืชสมุนไพร รักษาเกี่ยวกับเลือดและอาการอักเสบภายใน เหมาะสำหรับสตรีหลังคลอด





(ภาพ ไพบูลย์ เวชกามา)




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)
เทพีบ้านไพร



(ภาพ ป้าหน่อย)



(ภาพ ป้าหน่อย)
กระเจียวขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma parviflora Wall.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
เมื่อฝนตกใหม่ เดือน 5 เดือนหก ดอกกระเจียวขาว
ก็เกิดตามโคก กลีบขาวผ่อง ดังดรุณีแรกแย้ม
ชาวบ้านในชนบท ที่อยู่ใกล้กับทรัพยากรโคก
เก็บมันมากินกับน้ำพริก ป่นกบ ป่นเขียด แจ่วปลา
ดอกกระเจียวขาว นั้นหอมหวานประทับจิต
.........................
ทีมงานสำรวจโคกได้พบว่า มันเกิดมาเพื่อเลี้ยง
สรรพสัตว์ในนิเวศน์โคก ทั้งแมลง สัตว์เล็กสัตว์น้อย
สัตว์ปีก ไปจนถึงมนุษย์ผู้เจริญ ไม่มีค่าจ้าง
กระเจียวขาวออกดอกในช่วงสั้นๆ ของฤดูฝน
ช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 
...................... 
แม้ในเป็นประเทศที่เจริญแล้
อย่างสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลน ญี่ปุ่น 
ก็ไม่มีกระเจียวขาว หรือ หรือดอกดิน ให้ยินยล
มันเกิดตามโคก ตามป่าโปร่งเท่านั้น




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)





(ภาพ ไพบูลย์ เวชกามา)




(ภาพ ไพบูลย์ เวชกามา)




(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

กระเจียวแดง ว่านมหาเมฆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sessilis Gage.
ชื่อพ้องชื่อวงศ์ Zingiberaceae
" สีแดงดั่งเลือดอีสาน..ตน "
" ทุกข์ทนฝ่าแล้ง..ไฟไหม้ "
" รากหยั่งในดินพฤกษ์..ไพร"
"จังเจียวให้ คนระลึก ถึงถิ่นตน"
.................................
ดอกกระเจียวสีแดง แต้มแต่งผืนโคก
ในช่วงฤดูฝนโปรยปราย ดอกใช้เป็นอาหาร
ทั้งหัวว่าน รากเหง้าเป็นสมุนไพร ชั้นเอก
สาวอีสานหลาย ๆ คน เคยเก็บดอกของมัน
คนอีสานหลาย ๆ คนเคยกิน
..................
แต่การสิ้นไปของป่าโคก เราอาจไม่ได้สัมผัสมัน
ในบริบทความเป็นอยู่คือ "อีสาน" ในอีกแง่
จะเห็นว่า ดอกกระเจียวในภาพ แตกต่างจาก
ภาพโปสเตอร์ดอกกระเจียวใน"ภูกระดึง"
เพราะคนละชนิดกัน ชนิดนี้มีตามป่าโคกเท่านั้น






( ภาพ อีเกียแดง)











(ภาพอีเกียแดง)

เคลือส้มลม




(ภาพ ป้าหน่อย)

ส้มลม...Aganonerion polymorphum Pierre ex Spire
ใบ ดอก ผลอ่อน รสเปรี้ยว กินได้ 
หมอยาพื้นบ้าน อีสาน
ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง หรือผสมกับต้นเล็บแมว ต้นตับเต่าโคก ต้นมะดูก ต้นเปล้าใหญ่หรือเปล้าน้อย ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นกำจาย ต้นกำแพงเจ็ดชั้น และต้นกะเจียน ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ลำต้น(เถา ) ต้มน้ำดื่มแก้ลมวิงเวียน










(ภาพ ป้าหน่อย)

#เจตพังคี 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton crassifolius Giesel...
อีสานบ้านเฮาเอิ้น ต้นฮังคี ยาดี ประจำโคก
หมอยา ทางอุบลฯ ใช้รากฝน ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด ในผู้ใหญ่ใช้รากต้มดื่มแก้ปวดเมื่อย แก้ลมในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ (เอ้อ สรรพคุณคล้ายอีโนแฮะ) 
ถ้าปวดท้อง แบบมีอาการจุกเสียด
ใช้ผสมกับรากส่องฟ้าดง ต้มดื่ม 
และ ใช้เข้ายาแก้ไข้ ผสมกับสมุนไพร อีกหลายชนิด ซึ่ง หมอยาพื้นบ้าน ที่ชำนาญ จะรู้จักดี
ขอบคุณ ข้อมูลเพิ่มเตฺม จาก เวบ ฐานข้อมูล สมุนไพร คณะเภสัช มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 






(ภาพ ป้าหน่อย)



"บักส้มมอ" ส้มมอ แปลว่า ส้ม =เปรี้ยว มอ= ที่สูง
เมื่อรวบศัพท์ แปลว่า ผลไม้รสเปรี้ยวแห่งที่ราบสู
เป็นต้นไม้ที่เกิดตามป่าโคก ทั่วไป
ภาษาภาคกลางเรียก สมอไทย
"สมอไทย" มีชื่อพื้นบ้านว่า มะนะ สมออัพยา
กะเหรี่ยง-เชียงใหม่เรียกว่า ม่าแน่ แม่ฮ่องสอนเรียกว่าหมากแน่ะ
"สมอไทย" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า คิบูลิค ไมโรบาลัน
(Chebulic myrobalans) หรือไมโรบาลันวู๊ด (Myrolan Wood) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เทอร์มินาเลีย คิบูลา (Terminalia chebula Retz.) จัดอยู่ในวงศ์ คอมบรีทาซีอี้ (Combretaceae)

"ส้มมอ" จัดเป็นไม้ยืนต้นมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร
เปลือกต้นมีลักษณะขรุขระ ใบ จัดเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม
หรือเกือบตรงข้ามกัน ใบมีรูปวงรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 8-15 ซม.

ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด
เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีสีเหลือง

ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือกลมรี
มีสีเขียวอมเหลือง หรืออาจมีสีแดง ปน
เมล็ดมีลักษณะแข็ง โดยทั่วไปนิยมรับประทานเป็นผลสด
นำมาดอง กลายเป็น ส้มมอไห ส้มมอดอง
เป็นยาและผลไม้ที่พระธุดงค์ท่าน ฉันได้ทุกเวลา
"ไม่อาบัติ"

ผลไม้ชนิดนี้ "บ่าง" และอิเกีย(ค้างคาวแดง)ชอบกิ
มดดำ มดไฮ ชอบกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกและผล
เป็นผลไม้ตามธรรมชาติที่สรรพคุณเลิศ เป็นสมุนไพร
เป็นผัก เป็นอาหารที่เกื้อหนุน ในระบบนิวศน์
นี่คืออีกสิ่งที่ ป่าโคก มีไว้เกื้อหนุนมนุษย์



(ภาพ อีเกียแดง)



(ภาพ อีเกียแดง)
บักหาด {รสชาดจี๊ดถึงใจ..ขอบอกครับ}

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lakoocha Roxb.

วงศ์ : Moraceae

ชื่ออื่น : กาแย ขนุนป่า ตาแป ตาแปง มะหาดใบใหญ่ หาดหนุน หาด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 15-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวเปลือกนอกค่อนข้างขรุขระสีน้ำตาลดำ หรือสีเทาแกมน้ำตาล บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตก และยางไหลซึมออกมาติดต้น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปยาวรี ปลายแหลม โคนเว้ามน กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ใบแก่ขอบมักเรียบ หูใบเรียวแหลม ดอก ช่อกลมเล็กๆ สีเขียวอมเหลือง ขนาดเล็ก ออกตามง่ามใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละช่อ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวเมียกลีบค่อนข้างกลมมน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกตัวผู้กลีบเป็นรูปขอบขนานปลายกลีบหยัก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน ผล เป็นผลรวม กลมแป้นใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร เปลือกนอกผิวขรุขระ เนื้อผลค่อนข้างนุ่ม สีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลเหลือง เมล็ด แต่ละผลมี 1 เมล็ด รูปรี ติดผลเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ส่วนที่ใช้ : แก่นต้นมะหาด อายุ 5 ปีขึ้นไป ราก เปลือก

สรรพคุณ :

แก่น - ให้ปวกหาด ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือน ละลายกับน้ำ ทาแก้ผื่นคัน

แก่นเนื้อไม้ - แก้ขุกแน่น แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับลม ผายลม แก้ผื่นคัน แก้ตานขโมย เป็นยาระบาย ถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม ถ่ายพยาธิเส้นด้าย ถ่ายพยาธิตัวตืด ขับเลือด แก้ลม ถ่ายพยาธิตัวแบน แก้กระษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ท้องผูกไม่ถ่าย

แก่น - แก้โรคกระษัยไตพิการ แก้กระษัยดาน แก้กระษัยเสียด แก้กระษัยกล่อน แก้กระษัยลมพานไส้ แก้กระษัยทำให้ท้องผูก แก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้นอนไม่หลับ แก้เบื่ออาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปัสสาวะกระปริบกระปรอย ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด แก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย แก้ฝีในท้อง แก้ปวด แก้เคือง กระจายโลหิต

ราก - แก้ไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น ขับพยาธิ แก้ไข้เพื่อฝีภายใน แก้พิษร้อน

เปลือก - แก้ไข้ครับ




(ภาพ อีเกียแดง)

เปราะป่า ว่านตูบหมูบหรือว่านอีอูบ

เปราะป่า ชื่อสามัญ Peacock ginger, Resurrection lily
เปราะป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia marginata Carey ex Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรเปราะป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ (อุบลราชธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี, ชุมพร), เปราะ หัวหญิง (กระบี่), เปราะเขา เปราะป่า เป็นต้น
สรรพคุณว่านอีอูบ ตูบหมูบหรือเปราะป่า
  1. หัวหรือเหง้าใต้ดินใช้ผสมกับตัวยาอื่นเพื่อเข้าตำรับยา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (หัว)
  3. ช่วยแก้หวัด โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็กจะช่วยบรรเทาอาการได้ (หัว)
  4. ช่วยแก้อาการไอ (หัว)
  5. ช่วยแก้กำเดา โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็ก (หัว)
  6. ดอกเปราะป่าช่วยแก้อาการอักเสบตาแฉะ (ดอก)
  7. ใช้รักษาเด็กที่ชอบนอนผวาตาเหลือกช้อนดูหลังคา (ดอก)
  8. น้ำคั้นจากใบและเหง้านำมาใช้ป้ายคอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ (หัว, ใบ)
  9. หัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ (หัว)
  10. ช่วยขับลมในลำไส้ (หัว)
  11. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ต้น)
  12. ใช้เป็นยาขับโลหิตที่เน่าเสียของสตรี (ต้น)
  13. ใช้เป็นยากระทุ้งพิษต่าง ๆ (หัว)
  14. ช่วยแก้ลมพิษ ผดผื่นคัน (หัว) ช่วยรักษาเลือดที่เจือด้วยลมพิษ (หัว)
  15. ใบเปราะป่าช่วยแก้เกลื้อนช้าง (ใบ)
  16. หัวหรือเหง้าใต้ดินนำมาตำพอกแก้อาการอักเสบอันเนื่องมาจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (หัว)
  17. หัวมีกลิ่นหอม ให้รสร้อนและขมจัด ใช้สำหรับทำเป็นลูกประคบ เพื่อช่วยแก้อาการฟกช้ำได้ (หัว)
  18. หัวใช้ผสมกับใบหนาดใหญ่ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพาต (หัว)



 (ภาพ ป้าหน่อย)


(ภาพ ป้าหน่อย)





(ภาพ อีเกียแดง)
หมากตาไก้




(ภาพ อีเกียแดง)
หมากตาไก้
ตาไก้ กำแพงเจ็ดชั้น ป้องกันโรคภัย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L.
ชื่อวงศ์ CELASTRACEAE
ชื่ออื่นๆ  กำแพงเจ็ดชั้น ตะลุ่มนก ตาไก้ น้ำนอง มะต่อมไก่ หลุมนก
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกช่อสั้นๆ ออกที่ง่ามใบ กลีบดอกสีเหลือง หรือสีเขียวอมเหลือง ผลรูปค่อนข้างกลมหรือรูปรี เมื่อสุกสีส้มแดง
การขยายพันธุ์  ใช้เมล็ด



ตาไก้ ยาอีสาน ปราการโรคภัย
        ตาไก้แทรกอยู่ในตำรับยาหลายตำรับในตำราใบลานของอีสาน คล้ายๆ กับที่ใบมะกา ยาดำ ฝักราชพฤกษ์(ฝักคูน) แทรกอยู่ในตำรับยาทางภาคกลาง เนื่องจากในการแพทย์แผนตะวันออกโดยทั่วไป การกำจัดพิษจะมีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ของเสียนั้นเป็นภาระแก่ร่างกายที่กำลังอ่อนแอ ทั้งยังช่วยเตรียมร่างกายให้สามารถดูดซึมโอสถสารและสารอาหารที่มีประโยชน์ได้
           ตาไก้ยังมีประโยชน์ทางยาอีกหลายอย่าง พ่อเม่าบอกว่า การกินตาไก้เป็นประจำจะทำให้สุขภาพดี เหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้นป้องกันโรคภัยไข้เจ็บอยู่ จากความเชื่อเช่นนี้ทำให้มีการใช้เนื้อไม้ของตาไก้ไปทำเครื่องราง ตาไก้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า  กำแพงเจ็ดชั้น เนื่องจากเนื้อไม้ของเถาตาไก้มีลักษณะเป็นลายเรียงตัวเป็นวงๆ รอบศูนย์กลางเหมือนกำแพงที่ล้อม



(ภาพ อีเกียแดง)
เหมือดแอ่

สรรพคุณ
              ตำรายาไทยใช้ เปลือก รักษารอยฟกช้ำ เปลือกต้นและแก่น เผาไฟจะให้น้ำยาง บรรเทาอาการปวดฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ใบ ต้มรักษาโรคโกโนเรีย ต้นและใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด รากหรือลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำต้นนำมาผสมกับแก่นพลับพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด ราก ผสมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำดื่ม แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง มีเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย) ผลสุกและใบอ่อน รับประทานได้ ผลสุกกินเป็นผลไม้ มีรสหวาน ยอดนำไปกินเป็นผัก รสฝาดหวาน ใบ ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง
             ยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ น้ำยาง ทาฟันทำให้ฟันไม่ผุง่าย (โดยนำกิ่งขนาดนิ้วมือ ยาว 1 คืบ เอาไฟลนตรงกลางจะได้น้ำยางออกมา) ใบแก่ นำไปคลุกรวมกับพริก แล้วนำไปตากแห้ง ทำให้พริกสีสดและไม่มีแมลงมากัดกิน  ใบอ่อน ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด




(ภาพ อีเกียแดง)
บักบก อีกหนึ่งที่ตรึงจิตแค่คิดก็สุข



(ภาพ คุณสุรชัย)



(ภาพ คุณสุรชัย)
การหาบ่าง อีกหนึ่งวิถีที่เลือนลางครับ เมื่อโคกหายทุกอย่างก็คงกลายเป็นแค่เรื่องเล่า


(ภาพ คุณสุรชัย)








บ่าง ชื่อสามัญ ว่า Colugo
ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Galeopterus variegatus 
สัตว์อีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่อาศัยในป่าโคก 
เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Galeopterus
บ่างดูคล้ายกับ หนูมีปีก เดินทางเดินการร่อนจากยอดไม
มีสีน้ำตาลแดง จนถึง สีเทา ด้านข้างมีผังผืดหนัง
เชื่อมต่อกับลำตัวใช้ในการร่อน เหมือนนักโดดร่ม
อาศัยกิน ยอดไม้ ดอกไม้ และผลไม้ในป่าโคกเป็นอาหาร
ออกหากินเวลากลางคืน นอนตามสุมทุมยอดยอดไม้
มักทำรังในโพรงไม้บนที่สูง เพื่อเลี้ยงลูก
อีกสายพันธุ์ที่กำลังหายไป จากบริบทวิถีอีสาน





(ภาพ ป้าหน่อย)
หญ้าข้าวก่ำ ..(Buchnera cruciata )
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buchnera cruciata Buch. –Ham ex D.Don 
ออกดอก ตุลาคม-กุมภาพันธ์ ตามป่าโคกทั่วไป
พบได้ตามป่าโปร่ง โคกโปร่งดินทราย 
เป็นต้นหญ้าประเภทหนึ่ง ในระบบนิเวศของป่า
กระต่ายโคก ไก่ป่า มดแมลง ชอบกินดอกของมัน
แมลงบางชนิด เช่นจิ้งหรีด(จิโป่ม )
จินาย(จี้งหรีดทองดำ)
ชอบเก็บสะสมเป็นเสบียงไว้ต่อสู้กับความอดอยาก
ในฤดูแล้งที่จะมาเยือนป่าโค





"ขี้โค่" หรือ "ขี้ตก " 
คือยางไม้ของ ต้นกุง(ต้นตึง เหนือ )ต้นพลวง(กลาง)
ออกมาจากเปลือกไม้ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
สำหรับ "อ่อยไฟ"(อีสาน) ก่อไฟหุงหาอาหาร
ชาวอีสานยังนำมันไปผสมกับยางไม้ชนิดอื่น
เพื่อทำเป็น "ชัน" ยาคุ ยาเฮือ ยาสังกะสี
เรียกว่าเป็น"มหาอุตต์" โดยแท้
......................
ในสมัยก่อนเขาเอาไปห่อใบตองทำเป๋น
ขี้กะบอง หรือไต้ คบเพลิงให้แสงสว่าง
เราหาเก็บ "หาส้วนเอา" ตามป่าโคกได้เสมอ
ในป่าโคกมีหมด ยารักษาโรค ทั้งของใช้ ของกิน
ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็น "เซ็นทรัลเวิลด์ "
ของชาวอีสาน



(ภาพ อีเกียแดง)

เมื่อเร็วๆนี้ ทางการได้ประกาศให้"ไข่มดแดง"
เป็นอาหารระดับภัตตาคาร สู่ภูมิภาคอาเซี่ยน
นั่นเป็นการ ยกระดับอาหารโคกป่าบ้านเรา
หากมีการศึกษาที่ถูกต้อง ชาวเราสามารถ
นำประโยชน์จากทรัพยากรโคกมาใช้ได้
เพื่อเกิดสุขแก่ชุมชน จึงสมควรรักษาโคก
และปลูกเพิ่มในพื้นที่เสื่อมโทรมต่าง ๆ



(ภาพ อีเกียแดง)





(ภาพ อีเกียแดง )





(ภาพ ป้าหน่อย)







(ภาพ อีเกียแดง)

แมงแคงขาโป้..อาหารอันแสนอร่อยที่ซ่อนตัวอยู่ในโคก..






(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)



(ภาพ ปิ่นลม พรหมจรรย์)

กะปอมก่า (กิ้งก่า) คือหน้าต่างอีกบาน ที่ควรตริตรอง
เนื่องจากจำนวนกะปอมก่า ในท้องถิ่นเหลือน้อย
ถดถอยแรงในการดำรงเผ่าพันธุ์ อีสานนั้นกินกิ้งก่า
ในฤดูแล้ง (มี.ค. - เม.ย. ) นอกฤดูนั้นจะไม่แตะต้อง

เมื่อพบเห็นอยากให้เราชื่นชมมันบ้าง
อย่ามองแต่เป็นอาหารอย่างเดียว เหลือช่องว่าง
ให้เขาได้เพิ่มจำนวน เพื่อเลี้ยงดูเราจะดีกว่า



ปิดท้ายด้วยภาพคุณ Paitoon Nakordsri ที่ส่งภาพมาให้หลังเพจครับ





























(ภาพ อีเกียแดง)
บทสรุปของป่าโคกกำลังตกอยู่ในบทโศกกับโลกที่เปลี่ยนแปลง แสงที่เคยเปล่งประกายกำลังเลือนหาย และคงจะกลายเป็นแค่เรื่องเล่า ความงดงามตามที่ผมได้บอกตอกย้ำด้วยภาพประกอบขอมอบให้ท่านผู้อ่านได้ตรอง หากมองเห็นเพื่อเป็นแรงขับ ฮักรักษาถิ่นดึงกลิ่นฮอยหลังที่ปลูกฝังไปด้วยความเกื้อกูลเอื้ออาทรให้เป็นบทละครของชีวิตที่ตรึงจิตต่อไปครับ แม้จะเป็นแค่แสงที่เลือนลาง แต่มันก็คงจะไม่จางจืด อย่าลืมนะครับ  ป่าโคกยังรอความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อจากเรา อย่าให้พวกเขาเป็นแค่เรื่องเล่า ถึงวันนั้นคนที่เศร้าก็คือพวกเรานั่นเอง



(ภาพครูอีฟ)


 ด้วยจิตคารวะ

อีเกียแดง แห่งรัตติกาล